พิชามญช์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์มลพิษพลาสติกไม่ว่าจะประเทศไทยหรือทั่วโลก ขณะนี้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นและกำลังกลายเป็นวิกฤตมลภาวะพลาสติกล้นโลก โดยเฉพาะการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งที่มีการแพร่หลายไต่ระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง
“การเข้ามาของพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน การเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบให้ปริมาณของขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้น จากกราฟสีม่วงระบุ การรีไซเคิลค่อนข้างต่ำ คาดการณ์ว่าอนาคต อัตราการรีไซเคิลยังอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าอัตราการเกิดขยะพลาสติก”
จากข้อมูล ระบุปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทย เฉลี่ยประมาณ 25 ล้านตันต่อปี แต่อัตราการรีไซเคิลมีเพียง 18% เท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณขยะทั้งประเทศ สะท้อนว่าระบบการรีไซเคิลในปัจจุบัน อาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เมื่ออัตราการรีไซเคิลไม่สอดคล้องกับขยะทั้งหมด แล้วปลายของขยะเหล่านั้นไปที่ไหน ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ระบุสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั่วประเทศไทยมีประมาณ 2,000 กว่าแห่ง แบ่งเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการถูกต้อง 116 แห่ง และสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง 2,000 กว่าแห่ง เป็นการทำหลุมฝังกลบซึ่งมีทุกจังหวัด
ยกตัวอย่าง การขนส่งแอปเปิ้ล 1 ลูก มีการห่อด้วยพลาสติกหนึ่งชั้น ตามด้วยหุ้มฟอยล์อลูมิเนียม จากนั้นใส่กล่องแพ็คปิดท้ายด้วยการแรปพลาสติกอีกครั้ง แอปเปิ้ลเพียง 1 ลูก มีขยะเกิดขึ้นถึง 4 ชิ้น จะเห็นว่ามีการใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็นเกิดขึ้น ประเทศไทยมีการใช้วัสดุตั้งต้นที่หลากหลาย เมื่อขาดการควบคุมการใช้วัสดุเริ่มต้นที่ย่อมทำให้เกิดปัญหาการจัดการขยะ ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้จนกลายเป็นขยะ 100%
ประเทศเกาหลีใต้ นำหลักการ Polluter Pays Principle (PPP) ที่ระบุว่า ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หลักการนี้น่าสนใจคือ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะของผู้คนทั่วไปตามปริมาณการสร้างขยะ หากผู้บริโภคสร้างขยะเยอะต้องจ่ายเยอะ เป็นการควบคุมหรือจัดการกับพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาลดใช้หรือลดการสร้างขยะกันมากขึ้น รวมถึงภาครัฐ มีข้อบังคับการใช้พัสดุทำบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตต้องคิดอย่างรอบด้าน เพราะห้ามนำ PVC ใช้ในบรรจุภัณฑ์เพราะมีอัตราการรีไซเคิลต่ำ สะท้อนว่าการที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เมื่อมีข้อบังคับและมีกฏหมายชัดเจน จึงทำให้การลดขยะในเกาหลีใต้เกิดขึ้นจริง
ขณะที่ประเทศไทย ต้องยอมรับว่าภาครัฐ ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง แต่กฏหมายที่ใช้ปัจจุบันเน้นการจัดการปลายทาง ซึ่งมีขยะเกิดขึ้นแล้วทำให้มลพิษพลาสติกในประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต บทบาทภาครัฐขณะนี้คือ Road Map จัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ภายใต้การตั้งเป้าว่าจะเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม แบนผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดออกโซ (Oxo-biodegradable Plastic) ภายในปี 2562 และเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาด 36ไมครอน กล่องโฟม บรรจุอาหาร แก้วพลาสติกขนาดน้อยกว่า 100ไมครอน และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 แต่เมื่อ Road Map อยู่ในรูปแบบความสมัครใจ ไม่ใช่กฏหมายจึงไม่มีบทลงโทษทำให้วันนี้เรายังเห็นพลาสติกอยู่ตามท้องตลาด
“สิ่งเหล่านี้จึงมีความสำคัญที่ภาครัฐต้องมีกฏหมาย เพื่อกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจน ควบคุมพฤติกรรมการใช้พลาสติกที่เกิดขึ้น กฏหมายต้องระบุการลดขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งหลายประเทศบังคับใช้แล้ว ภายใต้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หลักการนี้มีความสำคัญเพราะพูดถึงการลดใช้ เป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง และพูดถึงความรับผิดชอบของผู้ผลิต โดยผู้ผลิตรวมถึงบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า”
หลักการ เป็นตัวกำหนดแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกบังคับใช้เป็นนโยบายในประเทศของตนเอง เช่น หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตหรือ EPR หลักการนี้ครอบคลุมหลายประเด็น คำนึงถึงกระบวนการเดินทางของบรรจุภัณฑ์ เน้นการลดตั้งแต่ต้นทาง คือการลดใช้ การใช้ซ้ำ การขนส่งหรือการออกแบบ รวมถึงการดีไซต์บรรจุภัณฑ์ ที่ผู้ผลิตต้องออกแบบภายใต้ควบคุมตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงกระบวนการสุดท้าย จะทำอย่างไรให้เกิดพลาสติกน้อยที่สุด ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางสังคม ที่รวมอยู่ในต้นทุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในประเทศไทยยังไม่มีหลักการ EPR ที่บังคับใช้เป็นนโยบายหรือกฏหมาย ขณะที่หลายประเทศกำหนดเป็นกฏหมายแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือการนำระบบใช้ซ้ำและระบบเติมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบันการขับเคลื่อนระดับโลก เป็นการผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก เวทีแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเพื่อศึกษากรอบและกฏบัญญัติต่าง ๆ ในสนธิสัญญาพลาสติกโลก มีหลายประเด็นเน้นการลดใช้และการใช้ซ้ำ ครอบคลุมเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี การศึกษาหรือการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยสนธิสัญญาพลาสติกโลก มีความสำคัญหากทุกประเทศบูรณการความร่วมมือและนำข้อตกลงในสนธิสัญญามาปฏิบัติบังคับใช้ในประเทศของตนเอง เชื่อว่าการลดมลพิษพลาสติกในประเทศของไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ถอดความจาก DxC Talk "พลาสติกล้นโลก" เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2566