ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
ครม. เดินหน้า “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม" แก้โจทย์วิกฤตปฐมวัย
แชร์
ฟัง
ชอบ
ครม. เดินหน้า “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม" แก้โจทย์วิกฤตปฐมวัย
01 เม.ย. 68 • 16.01 น. | 427 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

มีความคืบหน้าในทิศทาง “การพัฒนาเด็กปฐมวัย” หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 มี.ค. เห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่เสนอให้ นโยบาย “3เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เป็น วาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต

พร้อมกำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), กระทรวงมหาดไทย (มท.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชนที่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้การกำกับดูแลและรับผิดชอบหรือที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

โรคระบาด - เหลื่อมล้ำ ดันวิกฤต “ปฐมวัย"

โดยเหตุผลที่เสนอนโยบายนี้ ระบุว่า สภาวะวิกฤต ของเด็กปฐมวัยในปัจจุบัน เป็นผลสืบเนื่องจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องหยุดทำ

การและเด็กจำเป็นต้องอาศัยอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองไม่มีความพร้อมและไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้ตลอด 24 ชม.  ประกอบกับพบว่า ระยะเวลาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของเด็กสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้เด็กปฐมวัยอยู่ในสภาวะวิกฤตจากการใช้สื่อหน้าจอที่เพิ่มขึ้น

สภาวะวิกฤตจากความเหลื่อมล้ำในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยสูงขึ้น โดยการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กอายุ 3-5 ปี ในปี 62-64 ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สภาวะวิกฤตทางสังคม ครอบครัว จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทย เมื่อวันที่  10 ก.ค. 66 พบว่า ร้อยละ 17 ของหญิงอายุระหว่าง 20-24 ปี มีการสมรสก่อนอายุ 18 ปี ร้อยละ 25 ของเด็กอายุไม่เกิน 17 ปี ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ เนื่องจากพ่อแม่มักย้ายถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพ ร้อยละ 71 ของเด็ก  0-17 ปี อาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา และยาย 

 

3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เครื่องมือแก้วิกฤเด็กปฐมวัย

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเสนอมาตรการ “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เพื่อแก้โจทย์นี้ โดย 3 เร่ง คือ เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทุกด้านของเด็กปฐมวัย, เร่งจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อการเติบโตอย่างอยู่ดีมีสุขของเด็กปฐมวัย, และเร่งเสริมศักยภาพ อปท. ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก เช่น รพ.อำเภอ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย

3 ลด คือ ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจังและงดใช้ในเด็กก่อนวัย 2 ขวบ โดยห้ามให้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือสื่อหน้าจอแก่เด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยเด็ดขาด และเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปีขึ้นไป ให้เล่นได้อย่างมีเงื่อนไข, ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย โดยการไม่เร่งการเรียนเขียนอ่านหรือยัดเยียดความรู้ให้เด็กปฐมวัย แต่เน้นการทำกิจกรรมที่หลากหลาย, และลดการใช้ความรุนแรงกับเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยให้ยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรงและการใช้คำพูดในเชิงลบ

3 เพิ่ม คือ เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่หลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา การออกกำลังกาย, เพิ่มการเล่าหรืออ่านนิทานกับเด็กสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา ทักษะสมอง จินตนาการ และเพิ่มความสุขอย่างสม่ำเสมอ, และสุดท้าย เพิ่มความรัก ความใส่ใจ และเวลาคุณภาพของครอบครัว 

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนหลังจาก ครม.เห็นชอบให้เป็นนโยบายนี้ เป็นวาระแห่งชาติ ระบุว่า มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อน ส่วนภาคท้องถิ่น ให้ อปท. เร่งส่งเสริมศักยภาพหน่วยงานในกำกับ ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ให้สามารถดูแล จัดการสภาพแวดล้อม สวัสดิการในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย 

ส่วนงานด้านการสื่อสาร ให้คณะอนุ กก. ด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยจัดทำแผนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด

นักวิชาการปฐมวัย หวังนโยบายถูกนำไปฏิบัติจริง

มีความเห็นจากนักวิชาการด้านปฐมวัย รศ.ดร.ชลาธิป สมาหิโต คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัย ระบุว่า ในแวดวงปฐมวัยได้มีการเสนอเครื่องมือนี้มานานแล้ว เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่ผู้ดูแลเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง พ่อแม่ จะต้องหันกลับมาดูว่า จะช่วยเร่งพัฒนาเด็กอย่างไร เพื่อดึงเด็กให้พ้นจากวิกฤต มติ ครม.นี้ จึงถือเป็นความคืบหน้าไปอีกขั้น และยังสอดคล้องกับการที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังร่างหลักสูตรปฐมวัย ซึ่งกำลังจะมีการทดลองใช้ในบางโรงเรียนในภาคการศึกษา 2568

“มีข้อหนึ่งที่พูดถึงเรื่องของการเน้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้โดยการฟังนิทาน ได้สื่อสาร พูดบอกเล่าเรื่อง ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะเป็นส่วนที่มีความสำคัญ เป็นแนวทางปฏิบัติอันหนึ่งที่สถานศึกษาปฐมวัยจะต้องเหลียวกลับมาดูในเรื่องการออกแบบการจัดการเรียนรู้ ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่น มีการทำกิจกรรมทั้งออกกำลังกาย การฟังนิทาน”

“ครูปฐมวัย” เป็นอีกส่วนสำคัญที่นักวิชาการปฐมวัยมองว่า ควรจะได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ ให้เกิดพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อออกแบบการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับยุคสมัย รวมถึงครูที่รับช่วงต่อจากปฐมวัย ที่ก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจพัฒนาการของเด็กด้วย เพื่อที่จะรับเด็กกลุ่มนี้ไปพัฒนาต่อให้มีคุณภาพ

“นอกจากนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงชุมชนก็มีความสำคัญไม่น้อยในเรื่องของการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เพราะไม่ใช่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ความรู้นี้มีอยู่รอบตัว ดังนั้น เมื่อผ่านมติ ครม.ออกมาแล้ว หน่วยงานต่างๆ จะได้นำเอาแนวนโยบายตัวนี้ไปปฏิบัติจริงๆ ก็รอคอยเวลาเห็นผลที่จะเกิดขึ้น”
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ปฐมวัย, 
#อนุบาล 
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
ALTV CI
ข่าว ALTV
ข่าว ALTV
ALTV News
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ปฐมวัย, 
#อนุบาล 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา