“ในโลกใบนี้ ไม่ได้มีเพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่พยากรณ์อากาศได้ เพราะสัตว์หลายชนิดก็สามารถทำนายสภาพอากาศเช่นนั้นได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเป็นตัวช่วย แต่อาศัยกลไกบางอย่างในร่างกายของพวกมัน สัตว์โลกเหล่านี้คือตัวอย่างบางส่วนของนักพยากรณ์อากาศตามธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์ ที่มนุษย์อาจใช้เป็นตัวช่วยในการสังเกตสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นได้”
วัชระ สงวนสมบัติ นักธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สัตว์มีสัญชาตญาณพิเศษที่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์บางอย่างได้ล่วงหน้าไม่ว่าจะเป็นการเกิดน้ำท่วม น้ำป่า พายุฝน ซึ่งคนสมัยก่อนได้อาศัยสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้ เพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น การที่สัตว์กลายมาเป็นนักพยากรณ์ได้ เพราะมนุษย์สังเกตพฤติกรรมของสัตว์ว่า หากสัตว์มีพฤติกรรมอย่างนี้ เหตุการณ์อย่างนั้นจะตามมา ซึ่งความถูกต้องแม่นยำมากกว่า 70 %
โดยพฤติกรรมของสัตวพยากรณ์นี้ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสภาวธรรมชาติที่ล้อมรอบตัวมันอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ไต้หวัน มีคนสังเกตเห็นแมลงสาบและหนูออกวิ่งพล่านไปหมด การที่สัตว์เหล่านี้รู้ว่ากำลังเกิดแผ่นดินไหวจะมีคลื่นเสียงออกมามาก ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ แต่แมลงสาบและหนูสามารถรับคลื่นเสียงได้ ทำให้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น จึงแสดงปฏิกิยาดังกล่าวออกมา นอกจากแผ่นดินไหวแล้วยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายอย่างที่พฤติกรรมของสัตว์สามารถบอกให้เราทราบว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ซึ่งคนในสมัยก่อน มักจะใช้สัตว์ในการสังเกตดูพายุฝน น้ำท่วม น้ำป่า หรือความแห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่
เคยสังเกตหรือไม่ว่าในวันที่อากาศอบอ้าว มักจะเห็นฝูงแมลงปอบินกันให้ว่อน โดยเฉพาะในพื้นที่แถบต่างจังหวัด โดยแมลงปอจะมารวมตัวกันมากกว่าปกติ และยังบินได้สูงกว่า สาเหตุเป็นเพราะความร้อนอบอ้าวจากพื้นดินที่ระเหยขึ้นมา ก่อให้เกิดความกดอากาศต่ำและตามมาด้วยปรากฏการณ์ฝนตก จึงทำให้แมลงปอสามารถบินได้สูงกว่าช่วงเวลาที่อากาศเย็นหรือมีความกดอากาศสูงกว่า พวกมันจึงพากันออกมาหากินในช่วงเวลาดังกล่าวมากเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับบรรดานกและกบที่ตามออกมากินแมลง จึงพบแมลงปอค่อนข้างมากก่อนช่วงเวลาฝนตกเสมอๆ ซึ่งหากใกล้เวลาที่ฝนจะตกมากเท่าไร อาจสังเกตได้ว่า แมลงปอจะยิ่งบินต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องด้วยมวลความชื้นในอากาศที่ทำให้ปีกบางๆ ของพวกมันหนักขึ้นนั่นเอง
หิ่งห้อยบินในระดับสูงขึ้น แสดงว่าฝนกำลังจะมา ปกติหิ่งห้อยบินในระดับต่ำ ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้ในระดับสายตา เมื่อฝนใกล้จะตก ความกดอากาศต่ำอากาศจะลอยขึ้น เพราะฉะนั้นแมลงก็จะบินสูงขึ้นตามอากาศที่ลอยขึ้นจากพื้นดิน แต่ถ้าอากาศเย็น ความกดอากาศสูงแมลงจะบินใกล้ๆ พื้นดิน เพราะไม่สามารถบินผ่านอากาศที่อยู่รอบตัวขึ้นไปได้
กรณีจะเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม จิ้งหรีดโปร่งจะอพยพออกจากรูไปอยู่ในที่สูง โดยช่วงใกล้ฝนตกความกดอากาศจะต่ำ อากาศบนพื้นดินลอยขึ้นไป ทำให้อากาศจากบริเวณอื่นที่เย็นกว่าไหลเข้ามาแทนที่ เป็นการพัดเอาลมและฝนเข้ามา จิ้งหรีดโปร่งสามารถรับรู้ถึงความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เนื่องจากเมื่อมีความกดอากาศต่ำ น้ำหนักอากาศที่กดทับตัวมันน้อยลง มันจึงรู้ได้ และรู้ว่าถ้าความกดอากาศต่ำลงแสดงว่าอีกไม่นานจะต้องมีลมและฝน เกิดขึ้นในบริเวณนั้น ดังนั้นเมื่อมีความกดอากาศต่ำลง จิ้งหรีดจึงเริ่มอพยพขึ้นที่สูง
เช่นเดียวกับพฤติกรรมของตะกวดวางไข่ในที่สูง แสดงว่าอาจจะเกิดน้ำท่วม ตามปกติตะกวดจะวางไข่ในจอมปลวก แต่หากตะกวดวางไข่ที่โคนจอมปลวก แสดงว่าน้ำจะน้อย แต่ถ้าตะกวดขุดที่ยอดจอมปลวกแล้ววางไข่ไว้ข้างบน แสดงว่าน้ำจะมาก การที่ตะกวดรู้ว่าจะต้องวางไข่ที่ใดนั้น ตะกวดอาจจะดูจากตำแหน่งที่ปลวกอาศัยอยู่ ถ้ามีปลวกอยู่ที่โคนจอมปลวกแสดงว่าน้ำไม่ท่วม ตะกวดก็จะวางไข่ที่โคนจอมปลวก แต่ถ้าปลวกขึ้นไปอยู่ทางด้านบนของจอมปลวก แสดงว่าจะเกิดน้ำท่วม ตะกวดก็จะขึ้นไปวางไข่ที่ยอดจอมปลวก
“พฤติกรรมบางอย่างของสัตว์ที่แสดงออกมาว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนั้นอาจจะไม่ชัดเจน แต่พฤติกรรมบางอย่างของสัตว์แสดงว่าจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นจริงเช่น พฤติกรรมการขนไข่ของมดเพื่อหนีน้ำ ถึงแม้ว่าพฤติกรรมของสัตว์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่สัญชาตญาณที่ตอบสนองต่อสภาวะธรรมชาติที่ล้อมรอบตัวมันยังคงอยู่ให้มนุษย์ที่ช่างสังเกตได้ใช้ประโยชน์ เพื่อเตรียมรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น”
มดเรียงแถวขนของเพราะต้องหนีฝน เป็นหนึ่งในการพยากรณ์อากาศแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง จากการสังเกตฝูงมดที่เดินเรียงแถวกันอยู่ตามพื้นที่ทางเดิน บนต้นไม้ หรือข้างกำแพงบ้าน เพราะหากเห็นพวกมันเกาะกลุ่มกันหนาแน่น พร้อมพากันแบกหามข้าวของเป็นพัลวันเมื่อไร นั่นแปลว่าฝนกำลังจะตก หรือพายุกำลังจะพัดผ่านมาในอีกไม่ช้า เนื่องจากมดสามารถสัมผัสความชื้นที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้ พวกมดจึงเตรียมพร้อมที่จะก่อเนินดินตรงทางเข้ารังให้สูงชันหรือแข็งแรงมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม และบางครั้งถึงขั้นขนไข่ย้ายรังขึ้นที่สูงกันเลย
นอกจากพฤติกรรมสัตว์ จะเป็นสัญญาณคาดการณ์สภาพอากาศแล้ว สัตว์ยังมีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ กันอีกด้วย เช่น เมื่อถึงฤดูหนาว สภาพพื้นที่บางแห่งที่สัตว์อาศัยอยู่จะมีความหนาวเย็นมาก สัตว์จะมีการปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิต เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่รอดจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น นกหลายชนิดจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการอพยพไปยังดินแดนที่มีความอบอุ่นและแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์เพียงพอ สัตว์บางชนิดหลบอยู่ในที่อยู่อาศัย และนอนหลับโดยไม่กินอาหารตลอดฤดูหนาว หรือที่เรียกว่า จำศีล ลัตว์บางชนิดจะสร้างขนหนา เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันอากาศ หนาวเย็น
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ สัตว์จะแสดงพฤติกรรมให้เพศตรงข้ามรับรู้ว่า พร้อมที่จะมีคู่เพื่อสืบเผ่าพันธุ์ เมื่อสัตว์อยู่รวมกันเป็นฝูงจะต้องมีตัวที่แข็งแรงเป็นจ่าฝูง เพื่อการอยู่ร่วมกัน และมีการป้องกันอันตรายให้แก่ฝูง สัตว์แต่ละชนิดมีพฤติกรรมในการหาอาหารแตกต่างกัน บางชนิดหาอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม บางชนิดพรางตัวเพื่อจับเหยื่อ สัตว์แต่ละชนิดมีการเตือนภัยศัตรูแตกต่างกัน เช่น งูเห่า และงูจงอางชูคอขึ้นแผ่แม่เบี้ย แมวโก่งตัวทำขนฟูและขู่ สัตว์บางชนิด มีพิษร้ายแรง จะมีสีสันฉูดฉาด เพื่อเป็นการเตือนภัย