“ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแผ่นดินไหวมากสุดในโลก โดยมีตำแหน่งตั้งอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลก 4 แผ่น นั่นหมายความว่าจะเจอกับการสั่นสะเทือนอยู่เกือบตลอดเวลา แม้ว่าส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบ แต่แท้จริงแล้วมีแผ่นดินไหวสั่นสะเทือนพื้นดินอยู่ทุกวัน เพราะญี่ปุ่นตั้งอยู่บริเวณวงแหวนไฟ จึงต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวที่สัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นได้ประมาณ 1,500-2,000 ครั้งในแต่ละปี”
ฟูจิ ฟูจิซากิ ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวและฟื้นตัวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้รวดเร็วที่สุด ด้วยความรู้ ความเข้มงวด วัฒนธรรม และประสบการณ์ ส่งผลให้ญี่ปุ่นทนทานต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา กรณีญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.3 ที่เมืองคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชูของญี่ปุ่น เมื่อปี 2559 ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า 220 คน และบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ทางทีมงานรายการดูให้รู้ มีโอกาสเข้าไปถ่ายทำเหตุการณ์หลังเกิดเหตุ จึงได้เห็นภาพของความช่วยเหลือ ความร่วมมือ และการหลบภัยในเหตุการณ์จริง
“มีคำพยากรณ์ว่าภายใน 30 ปีหลังจากนี้ โตเกียวอาจต้องเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน รวมถึงการให้ความรู้ประชาชนเพื่อเอาตัวรอด หนึ่งในนั้นคือ หน่วยงานให้ความรู้ และจำลองสถานการณ์จริงว่าจะต้องทำอย่างไร หากเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่”
ฟูจิ ฟูจิซากิ เล่าว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม อาหารอร่อย และสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ผู้คนมีระเบียบวินัย แต่ความน่ากลัวของญี่ปุ่นในอีกมุม คือความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ พายุ ประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติเกือบทุกภัย หน่วยงานภาครัฐจึงต้องมีมาตรการวางแผน ระวังป้องกัน เตือนภัยอย่างเข้มข้น
หนึ่งในผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เมืองคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ช่วงเดือนเมษายน ปี 2559 เล่าว่า ตอนเกิดแผ่นดินไหวตัวเองอยู่ภายในบ้าน ความรุนแรงทำให้โต๊ะ เก้าอี้ล้ม รู้สึกตกใจกลัวมาก แต่หลังเหตุการณ์สงบเจ้าหน้าที่เริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ทั้งอาหารและน้ำ จึงรู้สึกคลายกังวล เด็ก ๆ ทุกคนช่วยกันขนของใช้จำเป็นออกมาอยู่นอกบ้าน ป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยจะได้หนีทัน
ส่วนช่วงกลางคืนสมาชิกทุกคนจะอาศัยนอนในรถ ขณะที่ผู้ประสบภัยอีกคน ยอมรับว่า แผ่นดินไหวเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ความรุนแรงทำให้บ้านทั้งหลังพังถล่มลงมาอย่างรวดเร็ว แค่หนีเอาตัวรอดออกมาได้นับว่าโชคดีมากแล้ว ตอนนี้ต้องอยู่นอกอาคารเพราะเกรงจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แต่หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวสงบ ยังคงต้องเฝ้าระวัง เพราะยังมีปรากฏการณ์อาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นตลอดเวลา
นอกจากความช่วยเหลือจากทหาร ตำรวจ และหน่วยงานอาสาสมัครเร่งลงพื้นที่ เพื่อให้ช่วยเหลือเป็นไปอย่างเร็วที่สุด บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและความเสียหาย ยังมีกลุ่มนักเรียนหนึ่งในผู้ประสบภัยที่ไม่นั่งรอความช่วยเหลือ แต่กลับร่วมเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าและน้ำ จิตอาสาต้องแบ่งหน้าที่กันนำเครื่องปั่นไฟสำรองมาใช้ชั่วคราว เพื่อชาร์ทอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างโทรศัพท์มือถือ คอยเช็กสัญญานเตือนภัยแผ่นดินไหวจากแอปพลิเคชัน เพื่อจะได้เตรียมหลบทัน หรือออกไปนอกอาคารให้ทัน รวมถึงผู้ประสบภัยทุกคนต่างร่วมกันเป็นอาสมัคร เพื่อเร่งช่วยเหลือกันฟื้นฟูบ้านเมืองให้เร็วที่สุด
“ เหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 1 ปี ทุกอย่างในเมืองคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงทำต่อไปคือการให้ความรู้เกี่ยวกับการระวังป้องกัน และการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติที่รุนแรง อย่างไรก็ตามมีคำพยากรณ์ว่า ภายใน 30 ปี ที่นี่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุด แล้วคนที่นี่เตรียมพร้อมรับมือกันอย่างไร”
มิซากะ มิโฮโกะ เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ป้องกันภัยพิบัติ Sona Area Tokyo กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้การป้องกันภัยพิบัติ หรือ The Tokyo Rinkai Disaster Prevention Park (Sona Area Tokyo) เป็นเสมือนคลังความรู้เกี่ยวกับการระวัง ป้องกันการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่นี่มีอุปกรณ์สำหรับผู้เข้ารับการอบรมให้ฝึกคิดแก้ปัญหา ภายใต้การจำลองเหตุการณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติ เรียกว่าการฝึกซ้อมแผนรับมือ จำลองเหตุแผ่นดินไหวและไฟดับในลิฟต์ เวลา 6 โมงเย็น เป็นช่วงที่ทุกคนกำลังเลิกงานเดินทางกลับบ้าน แต่ระหว่างทางเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทุกคนต้องเตรียมความพร้อมรับมือ เมื่อออกจากลิฟต์ เหตุการณ์ยังดำเนินต่อ บรรยากาศนอกตึกถูกจำลองให้เป็นเมืองที่กำลังเกิดไฟไหม้ เสาไฟฟ้าล้ม ตึกถล่ม พังเสียหาย
"ข้อจำกัดความท้าทายอยู่ที่ตำแหน่งของอาคาร ซึ่งอาคารหลายหลังหากอยู่ในโซนที่พื้นดินไม่แข็งแรง จนทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนักของโครงสร้างได้อีกต่อไป เป็นเรื่องยากในการเพิ่มการป้องกัน แต่ญี่ปุ่นยังคงพยายามที่จะให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ประเด็นสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นความสามารถในการรับมือที่เตรียมการไว้อย่างดี"
โดยผู้ฝึกอบรมต้องตอบคำถาม 5 ข้อ เพื่อฝึกการคิด วิเคราะห์ วิธีการเอาชีวิตให้อยู่รอดเกิน 72 ชั่วโมง เริ่มที่ด่านทดสอบแรก เมื่อเจอเหตุการณ์ไฟไหม้ สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติ คือโทรหาเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพื่อป้องกันเหตุไฟลุกลาม ระหว่างเดินผ่านสถานที่ต่าง ๆ ต้องรู้จักวิธีการหลบตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งกระจกแตก ป้ายโฆษณาหรือสิ่งของสูงที่อาจตกลงมาให้ เทคนิคสำคัญของด่านนี้คือ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ทุกคนต้องตั้งสติและรู้ว่าต้องไปรวมตัวกันที่ไหน เส้นทางหลบหนีอย่างไร เมื่อได้ยินเสียงคนร้องขอความช่วยเหลือต้องทำอย่างไร มีสมาธิค่อยๆ เดินออกมาจากจุดเสี่ยง และติดต่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมอยู่เสมอ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วยเหลือทั้งตัวเองและผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที
สำหรับศูนย์หลบภัยหรือศูนย์อพยพ มี 2 จุด คือศูนย์หลบภัยแบบชั่วคราว และศูนย์หลบภัยแบบถาวร
โดยการเตรียมอุปกรณ์ของศูนย์หลบภัย เป็นอุปกรณ์ที่มีในบ้านทั่วไป อาทิ จอบ เสียม ค้อน เชือก ถังดับเพลิง กระเป๋า ปฐมพยาบาล เพื่อเตรียมช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงห้องน้ำสำเร็จรูป ที่ศูนย์แห่งนี้ ทำให้เป็นความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยมีความเป็นระเบียบ ทุกคนต่างแบ่งปันช่วยเหลือกัน เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้
ศูนย์การเรียนรู้ป้องกันภัยพิบัติ ยังมีนิทรรศการให้ความรู้ เกี่ยวกับปรากฏการณ์คลื่นยักษ์สึกนามิ โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเล รอยต่อ 2 ฝั่งมาชนกันทำให้เกิดคลื่น ความเร็วประมาณ 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวอย่างภาพจำลองประเทศญี่ปุ่น ตามคำทำนายระบุว่า ภายใน 30 ปีโตเกียวมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ถึง 70% ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น นำไปสู่การเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีทักษะการช่วยเหลือตัวเองได้ เนื่องจากไม่มีใครคาดเดาได้ว่าความเสียหายจะรุนแรงขนาดไหน โดยช่วง 200 ปี นักวิจัยมีการวิเคราะห์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ถึงขนาดแมคติจูด 8.5 ภายใน 200 ปีจะเกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ปี 1700 , ครั้งที่ 2 ปี 1923 และครั้งที่ 3 ใกล้จะเกิดขึ้นแล้ว
ซาวา โยชิฮิโร เจ้าหน้าศูนย์การเรียนรู้การป้องกันภัยพิบัติ กล่าวว่า คนญี่ปุ่นมีการปลูกฝัง 3 คำจำให้แม่น คือปลอดภัย วางใจ และมีสันติภาพ เพราะระหว่างที่พวกเรายังไม่รู้ว่าสึนามิครั้งต่อไปจะมาเมื่อไหร่ จึงต้องหาองค์ความรู้เพื่อช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งองค์ความรู้อาจไม่ใช่เทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่เสมอไป เพราะแท้จริงการดัดแปลงนำสิ่งของใกล้ตัวมาประยุต์ใช้น่าจะเห็นผลชัดเจนที่สุด เช่น อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีในบ้านจะถูกดัดแปลงเป็นเครื่องมือเอาตัวรอดในยามฉุกเฉิน และสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมไว้เมื่อเกิดภัยพิบัติคือ อาหาร ยารักษาโรค และอุปกรณ์ที่จำเป็น