31 มีนาคม เป็นระลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ รัชกาลที่ 3 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองไว้มากมายในทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การศึกษา ค้าขาย และศาสนา โดยเฉพาะงานด้านศิลปวัฒนธรรม ทรงให้ความสนใจและฟื้นฟูจนรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในรัชกาลที่ 3 ALTV จึงขอนำพระราชกรณียกิจด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และวรรณคดีในรัชสมัยของพระองค์ มาให้ทุกคนได้เรียนรู้
สมัยรัชกาลที่ 3 มีการค้าขายกับชาวจีนมาโดยตลอด รูปแบบศิลปกรรมในสมัยนั้นจึงได้มีกลิ่นอายของศิลปะจีนแทรกมาด้วย เห็นได้จากสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 ที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะของไทยและจีน ทรงนำมาทำนุบำรุงวัดวาอารามมากกว่า 30 แห่ง ด้วยการออกแบบที่มีจุดเด่น คือ
ทางเข้าวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หรือ วัดราชโอรสฯ ที่มีซุ้มประตูแบบจีน
ทรงปฏิสังขรณ์ (ซ่อมแซม) วัดจอมทอง หรือ “ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” ให้เป็นวัดประจำพระองค์ โดยนำสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมมาออกแบบใหม่ทั้งวัด ซึ่งมีลักษณะแปลกไปจากวัดในแบบสามัญทั่วไปอย่างเด่นชัด มีการวางแผนผังแบบฮวงจุ้ยจีนเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก
วัดราชโอรสฯ ในเวลานั้นงดงามจนเป็นที่เลื่องลือ แม้แต่ชาวต่างชาติเองก็ชื่นชมในความงามของวัดแห่งนี้ เช่น เซอร์จอห์น ครอว์เฟิร์ด นักการทูตที่เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม ได้เขียนบันทึกยกย่องความงามของวัดนี้ว่า “เป็นวัดที่สร้างขึ้นได้อย่างงดงามที่สุดในบางกอก”
วัดสถาปัตยกรรมพระราชนิยม ได้แก่ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร (วัดราชโอรสฯ), วัดราชนัดดารามวรวิหาร (วัดราชนัดดา), วัดเทพธิดารามวรวิหาร, วัดยานนาวา, วัดนางนองวรวิหาร และวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (วัดกัลยา) เป็นต้น
ในการสร้างวัดและปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่แก่งานช่าง ทรงเข้าตรวจสอบทุกขั้นตอนของการสร้างงานด้วยพระองค์เองอย่างละเอียด นำเอาการก่อสร้างของจีนมาประยุกต์เข้ากับระบบการก่อสร้างของไทย เนื่องจากทรงเห็นว่าการก่อสร้างจากแบบเก่า ส่วนใหญ่เป็นอาคารเครื่องไม้โดยเฉพาะเครื่องหลังคา เช่น ช่อฟ้า หน้าบัน เกิดความชำรุดทรุดโทรมง่าย ต้องเปลี่ยนบ่อย อีกทั้งช่างฝีมือไทยที่ชำนาญงานยังไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนเป็นการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนที่แข็งแรง มั่นคงกว่า โดยระดมช่างฝีมือจากจีนมาช่วยสร้างงาน ด้วยเหตุนี้ รูปแบบอาคารจึงเป็นไปตามความสามารถของช่างจีน
การสร้างวัดของพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ขุนนางและราษฎรทั้งหลาย คนฐานะดีทั้งไทยและจีนต่างพากันสร้างวัดเพื่อเป็นกุศลมากมาย ถือเป็นผลดีกับพระพุทธศาสนา
งานจิตรกรรมมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังคงเลียนแบบงานวาดภาพสมัยอยุธยา เห็นได้จากภาพวาดในพระอุโบสถ พระวิหารของวัดต่าง ๆ ที่มักเป็นภาพเทพชุมนุม ภาพพุทธประวัติ หรือ ทศชาติชาดก
ในขณะเดียวกัน ช่างฝีมือจีนที่มาร่วมสร้างงานก็มีการวาดลวดลายบนฝานังในแบบจีนมาผสม ตัวอย่าง ประตูพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระราชวังบวรสถานมงคล (พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) มีลายต้นไม้ ดอกไม้ นก แมลง และกิเลน ซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีจีน ภาพจิตรกรรมฝาผนังบางแห่งมีการเขียนแบบสอดเส้นสีทอง ซึ่งดัดแปลงมาจากจิตรกรรมของจีน
ฝีมือของครูคงแป๊ะ จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถรูปทหารอาสาต่างชาติ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
เทคนิคการใช้ “สีมืดเป็นสีพื้น” คือเอกลักษณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นใหม่ในงานจิตรกรรมฝาผนัง มีการใช้คู่สีระหว่าง “สีเขียวกับสีแดง” ให้ดูโดดเด่น รวมถึงการแสดงของส่วนประกอบในฉาก เช่น ต้นไม้ น้ำทะเล ให้ดูความสมจริง ในยุคนี้มีการพัฒนาลวดลายของไทยที่เรียกว่า ลายเทศ มาประยุกต์กับลวดลายจีนและฝรั่งเข้าด้วยกัน มีลักษณะเป็นแถบลายคล้ายริ้วผ้าแบบภาพเขียนจีนที่เรียกว่า ลายฮ่อ ที่นิยมใช้แทนเส้นแบ่งฉากเรียกว่า เส้นสินเทา
สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นยุคกำเนิดจิตกรเอกอันเลื่องชื่อ ได้แก่ ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ มีผลงานจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามปรากฎที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว), วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง), วัดสุทัศน์เทพวราราม และวัดบางยี่ขัน
นอกจากนี้ยังมีขรัวอินโข่ง ศิลปินไทยคนแรกที่ใช้เทคนิคการเขียนภาพฝาผนังแบบตะวันตก โดยแสดงปริมาตรที่มีมิติใกล้ไกล ผลงานที่สร้างชื่อเสียง คือภาพปริศนาธรรมที่ฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร
สืบเนื่องมาจากรัชกาลที่ 2 ที่ทรงฟื้นฟูวรรคดีต่อจากพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อถึงสมัยพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงส่งเสริมวรรณคดีของชาติและการศึกษาของประชาชน ทรงร่วมกับนักปราชญ์ราชกวีทั้งหลาย ช่วยกันประพันธ์และรวบรวมวรรณคดี เช่น คติธรรมคำสอน นิทานชาดก ตำรานวดแผนไทย การช่าง และวิชาต่าง ๆ มาจารึกบนแผ่นศิลาตั้งไว้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อให้คนทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้ ทำให้วัดพระเชตุพนฯ หรือ “วัดโพธิ์” เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
อีกทั้ง วรรณกรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนายังเฟื่องฟูมาก เช่น หนังสือแปลภาษามคธเป็นภาษาไทย, เทศน์แปลพระไตรปิฎก, ปัญญาสชาดก, มิลินทปัญหา ซึ่งบางเล่มถูกเก็บรักษาไว้ในหอหลวง นอกจากนี้รัชกาลที่ 3 ยังโปรดให้นำเรื่องราวจากคัมภีร์ชาดกมาแต่งเป็น “กลอนสวด” และ “กลอนวัด” อีกด้วย
วรรณคดีในรัชสมัยนี้นิยมแต่ง “ร้อยกรอง” เป็นส่วนใหญ่ มักมีการเลียนแบบคำประพันธ์ของ “สุนทรภู่” เนื่องจากมีความไพเราะ มีสัมผัสใน สัมผัสนอก และความลื่นไหลของภาษา จึงมีการประดิษฐ์คำประพันธ์เกิดเป็น “กลอนกลบท” และ “โคลงกลบท” ที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดีที่สุด
วรรณคดีที่สำคัญในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น
พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
ความรุ่งเรืองในรัชสมัยของรัชกาล 3 นี้เอง จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง บุษบาลุยไฟ เรื่องราวของสตรีผู้เด็ดเดี่ยว แตกต่างจากสตรีร่วมยุคร่วมสมัยทั่วไปเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน ที่มีการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทย รวมถึงบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น อย่าง ครูคงแป๊ะ (หลวงเสนีบริรักษ์), ครูทองอยู่ (หลวงวิจิตรเจษฎา) และหมอบรัดเลย์ สามารถติดตามได้เร็ว ๆ นี้ทาง ไทยพีบีเอส
ขอบคุณข้อมูล : มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ, สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, hommesthailand.com, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)