ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
รวม 10 ข้อสงสัย 'เลือกตั้งทั่วไป 2566'
แชร์
ฟัง
ชอบ
รวม 10 ข้อสงสัย 'เลือกตั้งทั่วไป 2566'
11 พ.ค. 66 • 13.00 น. | 212 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

อีกเพียงไม่กี่อึดใจก็จะถึงวันเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ซึ่งก่อนที่เราจะได้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ALTV พามาไขข้อข้องใจกับคำถามสุดฮิตที่เกี่ยวกับวันเลือกตั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าคูหา

 

เลือกตั้ง 2566 วันไหน ?

การเลือกตั้งทั่วไปจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยผู้มีสิทธิต้องเดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านของตัวเอง

 

ใครบ้างที่มีสิทธิเลือกตั้งปี 2566 ?

  • ผู้มีสัญชาติไทย
  • ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • บุคคลที่แปลงสัญชาติ ที่ได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

 

หมายเหตุ: .ในกรณีย้ายทะเบียนบ้านใหม่ไม่ถึง 90 วัน ยังคงมีสิทธิเลือกตั้งอยู่ แต่สิทธิจะคงอยู่ตามทะเบียนบ้านเดิมที่อยู่มานานกว่า 90 วัน ท่านสามารถเดินทางไปใช้สิทธิยังหน่วยเลือกตั้งตามเขตทะเบียนบ้านเดิมได้

 

ใครบ้างที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ?

รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 96 ระบุลักษณะบุคคลที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งไว้ ดังนี้

  • ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
  • บุคคลต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • บุคคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

 

ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างไร ?

ก่อนเข้าคูหาเพื่อกาคนที่ชอบพรรคที่ใช่ ควรตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนว่าเรามีสิทธิเลือกตั้งหน่วยใด ลำดับที่เท่าไหร่ เพื่อป้องกันความสับสนในวันลงคะแนนโดยสามารถทำได้ง่าย ๆ 3 ช่องทาง ได้แก่ ตรวจสอบผ่านออนไลน์, หนังสือแจ้งเจ้าบ้าน, เดินทางไปตรวจสอบด้วยตนเอง

 

  1. การตรวจสอบรายชื่อออนไลน์ เป็นช่องทางที่สามารถตรวจสอบได้รวดเร็วและตลอด 24 ชม. ทำได้ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์กรมการปกครอง คลิกที่นี่ และ แอปพลิเคชัน Smart vote โดยการกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อใช้ค้นหา จากนั้นระบบจะแสดงข้อมูลให้เราทราบทันทีว่า เราต้องเดินทางไปที่หน่วยเลือกตั้งใด และลำดับในบัญชีรายชื่ออยู่ที่เท่าไหร่
  2. ตรวจสอบจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 15-20 วัน จะมีการส่งเอกสารรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังเจ้าบ้าน หรือที่เรียกว่า หนังสือแจ้งเจ้าบ้าน
  3. ตรวจสอบด้วยตัวเอง สามารถเดินทางไปตรวจสอบได้ด้วยตัวเองตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการเขต ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานเทศบาล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน 

วันเลือกตั้งต้องนำอะไรติดตัวไปบ้าง ?  

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนต้องพกหลักฐานยืนยันตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในวันเลือกตั้ง ดังนี้ 

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรหมดอายุสามารถใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานที่ออกโดยราชการ ที่สำคัญต้องมีรูปถ่ายและเลขบัตรประชาชน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (บัตรหมดอายุใช้ไม่ได้)  

 

บัตรประชาชนดิจิทัล (Digital ID) ใช้ยืนยันตัวตนได้หรือไม่ ? 

หากไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนติดตัว สามารถใช้หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์แทนได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นหลักฐานภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ซึ่งมีอยู่ 3 แอปพลิเคชันด้วยกัน

  • ThaiID (บัตรประชาชนดิจิทัล)
  • DLT QRLICENCE (ใบขับขี่ดิจิทัล)
  • แอปพลิเคชันบัตรคนพิการ (บัตรประจำตัวคนพิการอิเล็กทรอนิกส์)

 

หมายเหตุ: ไม่ควรบันทึกภาพหน้าจอมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แต่ควรเป็นการเปิดแอปพลิเคชันให้ตรวจสอบเท่านั้น

 

กาบัตรเลือกตั้งกี่ใบ ?

บัตรเลือกตั้งในปี 2566 ที่เราต้องลงคะแนนมี 2 ใบ คือ บัตรสีม่วง (เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต) และ บัตรสีเขียว (เลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ)

  • บัตรสีม่วง เป็นบัตรฯสำหรับเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัคร ไม่มีภาพ ชื่อ หรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นก่อนเข้าคูหาควรจำหมายเลข ส.ส. เขตของตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการลงคะแนนผิดพลาด

 

  • บัตรสีเขียว เป็นบัตรสำหรับใช้เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ พรรค จะประกอบด้วยหมายเลข โลโก้ และชื่อพรรคการเมือง ซึ่งสามารถทำเครื่องหมาย X ลงในช่องว่างที่ตรงกับโลโก้หรือชื่อพรรคได้เลย

 

หมายเหตุ: สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้ที่เว็บไซต์ Vote62 หรือ คลิกที่นี่

 

กาบัตรเลือกตั้งแบบไหนบัตรไม่เสีย ?

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 91 ระบุไว้ว่า การออกเสียงลงคะแนน ให้ทำเครื่องหมาย 'กากบาท' ลงในช่องทำเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครในบัตรเลือกตั้ง

 

ลักษณะ “บัตรดี” จึงต้องมีการทำเครื่องหมายกากบาท X ที่มีเส้น 2 เส้นตัดกันชัดเจนอยู่ภายในช่องลงคะแนน นอกเหนือจากนี้ เช่น เครื่องหมายถูก เครื่องหมายวงกลม เครื่องหมายดอกจัน ตลอดจนกากบาทที่ไม่ได้อยู่ภายในช่องทำเครื่องหมาย จะเข้าข่ายบัตรเสียและไม่ถูกนับคะแนนทันที 

 

ใช้ปากกาสีอื่นลงคะแนนได้ไหม ?

สามารถใช้ปากกาสีอะไรก็ได้ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้ว่าที่ผ่านมามีการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ถึง ‘สีหมึกปากกา’ ที่ใช้ในวันเลือกตั้ง ตลอดจนมีการขอความร่วมมือจาก กกต. ให้ใช้ปากกาสีน้ำเงินหรือสีดำเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อกฏหมายกำหนดสีปากกาในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเมื่อพิจารณาจากข้อกฏหมายที่ระบุลักษณะ 'บัตรเสีย' ได้แก่ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะไม่พบว่า 'สีปากกา' อยู่ในข้อพิจารณา 'บัตรเสีย' แต่อย่างใด

 

การกระทำแบบไหนมีโทษจำคุก ?

  • ถ่ายรูปเซลฟี่ หรือถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งขณะอยู่ในคูหา
  • แสดงบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วให้ผู้อื่นทราบ
  • ใส่เสื้อ หรืออุปกรณ์ที่มีโลโก้พรรค ชื่อ หมายเลขของผู้สมัคร
  • ขีดเขียนลงบนบัตรฯ นอกเหนือเครื่องหมายกากบาทในช่องลงคะแนน
  • นำบัตรเลือกตั้งออกจากสถานที่เลือกตั้ง
  • ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวผู้มีสิทธิออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
  • เล่นพนันเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
  • จำหน่าย แจกจ่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในวันเลือกตั้ง

 

จัดงานรื่นเริงในวันเลือกตั้งได้หรือไม่

งานมงคลสมรส งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ และงานรื่นเริงอื่น ๆ ที่กำหนดวันเวลาไว้แล้วสามารถจัดได้ตามปกติในวันเลือกตั้ง แต่ห้ามให้มีการแจกจ่ายหรือจัดเลี้ยงสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมไปถึงห้ามให้ผู้สมัครเลือกตั้งขึ้นเวทีหาเสียงในงานเลี้ยงเด็ดขาด

 

'คนพิการและทุพพลภาพ' มีสิทธิอะไรบ้างในวันเลือกตั้ง ?

ในวันเลือกตั้งผู้พิการที่มีลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถทำเครื่องหมายในช่องลงคะแนนเองได้ มีสิทธิขอให้ญาติ บุคคลที่ไว้ใจ หรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทำเครื่องหมายแทนให้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าคูหาถึงจะใช้สิทธิได้

 

เพราะเสียงของเราทุกคนมีความหมาย เมื่อไขข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อห้ามและกติกาในวันเลือกตั้งไปบ้างแล้ว ALTV ขอเชิญชวนเพื่อน ๆ ทุกคนออกไปใช้สิทธิของตัวเองเลือกผู้นำประเทศคนต่อไป เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศไทยกันนะคะ

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#เลือกตั้ง, 
#เลือกตั้ง66, 
#เลือกตั้งทั่วไป, 
#วิธีการไปเลือกตั้ง, 
#ข้อแนะนำก่อนวันเลือกตั้ง, 
#เลือกนายกรัฐมนตรี, 
#การเมือง 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
Interest Thing
Interest Thing
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#เลือกตั้ง, 
#เลือกตั้ง66, 
#เลือกตั้งทั่วไป, 
#วิธีการไปเลือกตั้ง, 
#ข้อแนะนำก่อนวันเลือกตั้ง, 
#เลือกนายกรัฐมนตรี, 
#การเมือง 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา