ทุกวันนี้โลกของเราเต็มไปด้วยมลพิษที่เป็นอันตรายมากมายอยู่รอบตัวเรา ทั้งสิ่งมองเห็นและมองไม่เห็น ทั้งจากควันรถ การเผาไหม้ ฝุ่น PM 2.5 หรือแม้กระทั่งโควิด-19 ที่แพร่กระจายเชื้อโรคไปตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น และเมื่อสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของเรา จะมีระบบหนึ่งที่ทำงานทันที นั่นคือ “ระบบภูมิคุ้มกัน” นั่นเอง วันนี้ ALTV จะไปพาดูว่าระบบนี้มีหน้าที่จัดการกับเชื้อโรคต่าง ๆ อย่างไรบ้าง มาเริ่มกันเลย
🦠ระบบภูมิคุ้มกัน หรือ Immune system
คือระบบที่คอยจัดการกับสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ก็ตามที่เป็นอันตราย และสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราจนนำไปสู่การก่อโรคต่าง ๆ ที่เรารู้จักและคุ้นชินกันเป็นอย่างดีกับ “โรคภูมิแพ้” ทั้งจากสิ่งมีชีวิต จำพวก แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ฝุ่นละออง ควันจากรถ เป็นต้น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานร่วมกันกับระบบอื่น ๆ ภายในร่างกาย ทั้งอวัยวะ เซลล์ และสารเคมี รวมไปถึงโปรตีนหลากหลายชนิด และเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ทำงานผิดปกติ ร่างกายของเราจะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย จึงไม่สามารถต่อสู่กับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้ โดยสามารถสรุปหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันออกได้เป็นดังนี้
- ป้องกันและทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
- ทำหน้าที่จดจำ และต่อต้านสารที่เป็นอันตรายจากสิ่งแวดล้อม
- ต่อสู้กับเซลล์ที่ปิดปกติ เช่น เนื้องอก เซลล์มะเร็ง
🦠กลไกการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมของระบบภูมิคุ้มกัน
เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายของเรา จะเกิดกลไกหลายอย่างที่มีการกำจัด ต่อต้าน ไม่ให้เข้ามาทำร้ายส่วนต่าง ๆ ในร่างกายของเรา โดยเราสามารถแบ่งกลไกการต่อสู่กับสิ่งแปลกปลอมออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

- กลไกต่อต้านสิ่งแปลกปลอมแบบไม่จำเพาะ (Non–Specific immune response)
- กลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมแบบจำเพาะ (Specific immune response)
🔸กลไกต่อต้านสิ่งแปลกปลอมแบบไม่จำเพาะ (Non–Specific immune response)
เป็นกลไกที่ไม่เจาะจงว่าจะกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต หรือฝุ่น กลไกนี้จะใช้วิธีการเดิม ๆ จัดการในเบื้องตันกับสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นนั่นเอง และสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ
- กลไกการต่อต้าน หรือ ทำลายสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าสู่เนื้อเยื่อ เป็นกลไกที่ไม่ซับซ้อน และเมื่อเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามายืนจ่อที่หน้าประตู แต่ยังไม่ได้เข้าไปด้านในเซลล์ หรือในเนื้อเยื่อ กลไกนี้จึงจะเริ่มทำงานทันที
- กลไกการต่อต้าน หรือ ทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่เนื้อเยื่อ เมื่อด่านที่ 1 ไม่สามารถยับยั้ง และกันเชื้อโรคได้ นำไปสู่การเข้ามาในเนื้อเยื่อของเรา กลไกนี้จะเริ่มทำงานทันที
แต่ในบางครั้งสิ่งแปลกปลอมที่กำลังจะเข้ามาสู่ร่างกาย หรือเนื้อเยื่อ บางอย่างอาจไม่ได้สร้างอันตรายให้กับร่างกายของเรา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อฝุ่นละอองเข้าตา จะมีน้ำตาไหลออกมาเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมบางอย่างให้กับเรา เป็นต้น และยังมีสิ่งอื่น ๆ ในร่างกายที่เป็นประโยชน์ให้กับร่างกายของเรา ได้แก่

- น้ำตา หรือ น้ำลาย จะมีเอมไซม์ ย่อยผนังเซลล์ของแบคทีเรียได้
- ขี้หู ทำหน้าที่ดักจับฝุ่นละอองและแมลง
- ผิวหนัง ช่วยปกป้องการบุกรุกของเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้
- เหงื่อ จากต่อมเหงื่อและน้ำมันจากต่อมไขมัน ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด
- ท่อลม หลั่งเมือกดักจับฝุ่นละอองหรือจุลินทรีย์แล้วถูกซิเลียโบกพัดออกไปด้วยการไอหรือจาม
- กะเพาะอาหาร หลั่งกรด HCI ทำลายแบคทีเรีย
- ช่องคลอด มีภาวะเป็นกรดยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
- กะเพาะปัสสาวะ กำจัดจุลินทรีย์ที่สะสมออกไปกับปัสสาวะ
เมื่อเราเกิดการบาดแผล และมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่เนื้อเยื่อของร่างกายแล้วจะทำอย่างไร ❓
- เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายของเรา
- จะมีกลุ่มเม็ดเลือดขาว Mast cell และ Macrophage (คือ เม็ดเลือดขาวที่สามารถกินเชื้อโรคได้ และมีขนาดใหญ่นั่นเอง) ทั้ง 2 เซลล์จะส่งสัญญาณทางเคมีไปยังเม็ดเลือดขาวกลุ่ม Phagocyte ที่อยู่ในหลอดเลือด และมันก็สามารถกินเชื้อโรคได้เช่นกัน
- เมื่อส่งสัญญาณให้กลุ่มเม็ดเลือดขาวที่กินเชื้อโรคได้แล้ว ทั้ง Neutrophil และ Macrophage ก็จะพากันออกมาจากหลอดเลือด ส่งผลให้เนื้อเยื่อเกิดอาการบวมขึ้น และอาจไปโดนเส้นประสาททำให้เราเกิดความรู้สึกเจ็บปวด เป็นไข้ หรือไม่สบายได้นั่นเอง เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า “การอักเสบ” (Inflammation)
- ในขณะที่เกิดการอักเสบ Neutrophil และ Macrophage จะกัดกินเชื้อโรคจนหมดและย่อยสลายในเซลล์ของพวกมันเอง เราเรียกกระบวนการนี้ว่า Phagocytosis ฉะนั้นไม่ว่าเชื้อโรคชนิดไหนจะเข้ามาในร่างกายของเรา จะถูกกำจัดด้วยวิธีการแบบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งทำให้เชื้อโรคที่รุนแรงบางชนิดหลุดรอดเข้าสู่ร่างกายได้ เพราะฉะนั้น กลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมแบบไม่จำเพาะ อาจจะไม่สามารถจัดการกับเชื้อโรคได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องมีกลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมแบบจำเพาะขึ้นมา เพื่อเสริมสร้างให้เรามีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคได้ขึ้นมานั่นเอง
🔸กลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมแบบจำเพาะ (Specific immune response)
ร่างกายของเราจะสามารถรับรู้และเริ่มจดจำสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นได้เมื่อเข้ามาสู่ร่างกาย กลไกนี้จะพร้อมต่อสู่กับเชื้อโรคเสมอ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพกับการกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้เร็วมากขึ้น แต่ข้อเสียคือกว่าการที่เราจะสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะได้นั้น อาจต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่ากลไกแบบไม่จำเพาะ เพราะมันต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะขึ้นมา โดยเราเรียกว่า การสร้างแอนติบอดี หรือ การสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อเชื้อโรค เพื่อไปจัดการกับเชื้อโรคเหล่านั้นให้หายไป และเมื่อแอนติเจน (antigen) ที่เป็นเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกาย จะกระตุ้นกลไกลการต่อต้านหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมแบบจำเพาะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว 2 ชนิด ได้แก่
- เซลล์บี (B cell)
- เซลล์ที (T cell)
จะทำหน้าที่จับกินแอนติเจนนั้นอย่างเจาะจง และหลังจับกินแอนติเจน ไปแล้ว B Cell จะพัฒนาไปเป็น Plasma Cell เพื่อผลิตสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีมาทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้นนั่นเอง