ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Zero Waste
แชร์
ฟัง
ชอบ
5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Zero Waste
28 ม.ค. 67 • 14.36 น. | 343 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

 

เข้าใจแนวคิด Zero Waste

Zero Waste หรือ "การลดขยะให้เหลือศูนย์” คือแนวคิดการจัดการปัญหาขยะล้นเมืองตั้งแต่ต้นทาง โดยให้ความสำคัญกับ 5 หลักการ ได้แก่ หลีกเลี่ยง ลด ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "5Rs" ได้แก่ Refuse Reduce Reuse Repair Recycle

  • Refuse ปฏิเสธการใช้-ซื้อ สิ่งของที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก และช้อนส้อมพลาสติกฯลฯ
  • Reduce ลดใช้-ซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น เพื่อลดขยะเหลือทิ้ง เช่น การทำอาหารให้พอดีต่อมื้อ เพื่อไม่ให้กลายเป็นของเสียเหลือทิ้ง 
  • Reuse การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยการนำสิ่งของเครื่องใช้มาใช้ซ้ำหลายครั้ง เช่น การใส่เสื้อผ้าซ้ำ ลดการซื้อใหม่
  • Repair ซ่อมแซ่มสิ่งของเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ แทนที่จะทิ้งในทันที 
  • Recycle นำทรัพยากรที่ใช้แล้วผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ 

 

แม้ว่า Zero Waste ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ใครหลายคนอาจยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวคิดนี้อยู่บ้าง ALTV จึงอยากชวนคุณมาดู “5 ข้อที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Zero waste" ในฉบับเข้าใจง่าย เพื่อการจัดการปัญหาขยะอย่างถูกวิธี

5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Zero Waste

ต้องหักดิบการใช้พลาสติก

เป็นความจริงที่ว่าพลาสติกมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อน ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยเห็นความพยายามในการรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งกันเป็นจำนวนมากในหลายประเทศ และหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การแบนพลาสติกให้หายไปอย่างถาวรยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าพลาสติกช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้มนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าปัญหาที่แท้จริงของปัญหาขยะพลาสติกในปัจจุบันมาจากการจัดการกับขยะพลาสติกที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ และไม่ได้นำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำเท่าที่ควร จนเหลือทิ้งกลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบหรือจมอยู่ก้นมหาสมุทรนั่นเอง

 

Zero waste จึงไม่ใช่การหักดิบการใช้พลาสติกเพื่อผลลัพธ์ที่รวดเร็ว แต่คือการเริ่มเปลี่ยนแปลงในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อผลลัพธ์ในระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับการ 'ไม่ผลิตขยะเพิ่ม' และ 'ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด' เพื่อไม่ให้พลาสติกเหลือทิ้งกลายเป็นขยะสู่ท้องทะเลและสภาพแวดล้อมธรรมชาติ โดยสามารถเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ ที่ละนิด ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ตั้งแต่แรก
  • ใช้ซ้ำให้คุ้มค่าที่สุด
  • คัดแยกก่อนทิ้ง  
  • ใช้สิ่งของทดแทน

พลาสติกทุกประเภทสามารถรีไซเคิลได้ 

พลาสติกบนโลกของเรามีหลายพันชนิด และแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ส่งผลให้พลาสติกต่างชนิดกันไม่สามารถนำมารีไซเคิลรวมกันได้ และบางชนิดก็ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้เลย การคัดแยกพลาสติกก่อนทิ้ง จึงถือเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้พลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากขึ้น

 

โดยทั่วไป พลาสติกสามารถ แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ พลาสติกประเภทเทอร์มอเซต (THERMOSETTING PLASTIC) มักอยู่ในรูปแบบของอุปกรณ์ไฟฟ้า เมลามีน หรือยางสังเคราะห์ โดยพลาสติกประเภทนี้ นำกลับมารีไซเคิลได้ยากหรือแทบไม่ได้เลย อีกประเภทคือ พลาสติกประเภทเทอร์มอพลาสติก (THERMOPLASTIC) เป็นพลาสติกชนิดรีไซเคิลได้ พบได้ในถุงพลาสติก ผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร 

 

ไม่เพียงเท่านี้ ในชีวิตประจำวันเรายังสามารถแบ่งพลาสติกได้เป็นอีก 7ประเภทย่อย ได้แก่  

  • พลาสติก เบอร์ 1 โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) พลาสติกที่มีคุณสมบัติโปร่งใสมองทะลุได้ เช่น ขวดน้ำเปล่า ขวดน้ำมันพืช สามารถนำมารีไซเคิล เป็นใยสังเคราะห์ได้ 
  • พลาสติก เบอร์ 2 โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) พลาสติกที่มีคุณสมบัติขุ่นทึบ มีสีขาว เช่น กระปุกยา ขวดนม ขวดแชมพู 
  • พลาสติก เบอร์ 3 โพลีไวนิล คลอไรด์ (PVC) พลาสติกที่มีคุณสมบัติแข็ง ทนทาน มีส่วนประกอบของคลอรีน เช่น ท่อพีวีซี แฟ้มเอกสาร บัตร หรือของเล่นเด็ก 
  • พลาสติก เบอร์ 4 พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) มีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดี เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือพลาสติกห่ออาหาร 
  • พลาสติก เบอร์ 5 โพลีโพพีลีน (PP) พลาสติกแข็ง มักใช้ทำบรรจุภัณฑ์อาหาร 
  • พลาสติก เบอร์ 6 โพลีสไตรีน (PS) พลาสติกที่มีคุณสมบัติ แข็ง ผิวมันวาว แตกง่าย เช่น ช้อนส้อมพลาสติก  
  • พลาสติก เบอร์ 7 พลาสติกอื่น ๆ   

 

ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกเท่ากับช่วยโลก

เมื่อพูดถึงสินค้ารักษ์โลก “ถุงผ้า” (Tote Bag) คงเป็นสิ่งแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงเพราะนอกจากสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ทั้งยังมีลวดลายสีสันสวยงามจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์แฟชั่น ส่งผลให้หลายบ้านอาจมีถุงผ้าไว้ในครอบครอง 5-10 ใบ หรืออาจมากกว่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้ถุงผ้าที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นวิธีการช่วยโลก อาจเป็นวิธี ‘ทำลาย’ สิ่งแวดล้อมมากกว่า หากไม่ใช้ซ้ำเท่าที่ควร

 

อ้างอิงผลงานวิจัย ในปี 2011 พบว่าการผลิตกระเป๋าผ้าฝ้าย 1 ใบ สามารถสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกได้ เฉลี่ย 271.5 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าการผลิตถุงพลาสติก 1 ใบ ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.57 กิโลกรัม ยังไม่รวมกับการปลูกฝ้ายที่ต้องใช้น้ำถึง 7,000-23,000 ลิตร กว่าจะได้ฝ้าย 1 กิโลกรัม

 

เพราะฉะนั้น การ ‘ใช้ซ้ำ’ และซื้อใหม่ให้น้อยที่สุด จึงเป็นหลักสำคัญในการใช้ถุงผ้า และจะยิ่งดีหากเป็นถุงผ้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงเวลาต้องทิ้งมัน

แยกขยะไม่ช่วยอะไร เพราะยังไงก็เทรวมกัน  

ภาพของเจ้าหน้าที่เก็บขยะมูลฝอยที่กำลังเทขยะทั้งหมดใส่รถบรรทุกอย่างเร่งรีบในตอนเช้า อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่า “แยกขยะเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะคนเก็บขยะก็จะเทรวมกันอยู่ดี” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ในความเป็นจริงนั้น เจ้าหน้าที่ต้องทำงานให้รวดเร็ว เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องนำขยะทั้งหมดเทรวมไว้บนรถ ก่อนจะทำการคัดแยกขยะบนรถแล้วนำไปคัดแยกอีกครั้งที่บ่อขยะ

 

เพราะฉะนั้น “การคัดแยกขยะ” ก่อนปล่อยลงถังก็ถือเป็นวิธีที่สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสและปริมาณในการนำขยะกลับมารีไซเคิล (Recycle) เพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

 

รับชมเพิ่มเติม ตามดู กทม. ไม่เทรวม แยกขยะเศษอาหาร คลิก https://www.thaipbs.or.th/program/stories/IV9CKx 

สินค้ารักษ์โลกมีราคาแพง

เพราะราคาที่สูงกว่าสินค้าใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงทำให้สินค้ารักษ์โลกหรือสินค้า Eco-Friendly ยังคงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร  แต่ข้อดีที่ปฏิเสธไม่ได้ของสินค้ารักษ์โลกเหล่านี้ คือคุณภาพของวัสดุที่มีอายุการใช้งานที่ยืนยาว ใช้ซ้ำได้นาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่าการจะผลิตสินค้าเหล่านี้ ต้องมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าการผลิตสินค้าทั่วไป ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล คัดแยก ทำความสะอาด ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่า ทำให้สินค้าที่ออกมามีราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนนั่นเอง

 

ถึงอย่างไรก็ตาม หากไม่สะดวกใจจะซื้อสินค้ารักษ์โลกที่ราคาสูง การใช้ซ้ำให้คุ้มค่า ลดการซื้อที่ฟุ่มเฟือย ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยโลกได้เช่นกัน

 

 

 

ที่มา World Economic Forum Green Peace Thailand

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#รักษ์โลก, 
#สิ่งแวดล้อม, 
#ลดโลกร้อน, 
#ZeroWaste, 
#ปัญหาโลกร้อน, 
#รีไซเคิล 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#รักษ์โลก, 
#สิ่งแวดล้อม, 
#ลดโลกร้อน, 
#ZeroWaste, 
#ปัญหาโลกร้อน, 
#รีไซเคิล 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา